วันอาทิตย์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2554

วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) ในจังหวัดเชียงราย

วัดพระสิงห์ (พระอารามหลวง) เป็นวัดสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดเชียงรายมาแต่โบราณ ด้วยในอดีตเคยเป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธสิหิงค์” หรือ “พระสิงห์” พระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า ๒๐ ปี ปัจจุบันวัดพระสิงห์มีสถานภาพเป็นพระอารามหลวงประจำจังหวัดเชียงราย
วัดพระสิงห์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ มีเนื้อที่ ๔ ไร่ ๒ งาน ๕๒ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย สันนิษฐานกันว่าน่าจะสร้างขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๙๒๘ ในรัชสมัยของพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมาครองเมืองเชียงรายระหว่างพุทธศักราช ๑๘๘๘-๑๙๔๓
สาเหตุที่วัดนี้มีชื่อว่า “วัดพระสิงห์” นั้น น่าจะเป็นเพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทย คือ พระพุทธสิหิงค์ หรือที่เรียกกันในชื่อสามัญว่า “พระสิงห์” ปัจจุบันวัดพระสิงห์เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์ (หรือพระสิงห์) จำลองศิลปะเชียงแสน ปางมารวิชัย ชนิดสำริดปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓๗ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๖๖ เซนติเมตร
พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีหลักฐานปรากฏในสิหิงนิทานบันทึกไว้ว่า สร้างขึ้นเมื่อราวพุทธศักราช ๗๐๐ ในประเทศลังกา และประดิษฐานอยู่ที่ลังกา ๑,๑๕๐ ปี จากนั้นได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานยังราชอาณาจักรไทยตามลำดับ ดังนี้
พ.ศ. ๑๘๕๐ ประดิษฐานที่กรุงสุโขทัย ๗๐ ปี
พ.ศ. ๑๙๒๐ ประดิษฐานที่พิษณุโลก ๕ ปี
พ.ศ. ๑๙๒๕ ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ๕ ปี
พ.ศ. ๑๙๓๐ ประดิษฐานที่กำแพงเพชร ๑ ปี
พ.ศ. ๑๙๓๑ ประดิษฐานที่เชียงราย ๒๐ ปี
พ.ศ. ๑๙๕๐ ประดิษฐานที่เชียงใหม่ ๒๕๕ ปี
พ.ศ. ๒๒๕๐ ประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา ๑๐๕ ปี
พ.ศ. ๒๓๑๐ ประดิษฐานที่เชียงใหม่ ๒๘ ปี
พ.ศ. ๒๓๓๘ ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ-ปัจจุบัน
พระประธานในพระอุโบสถวัดพระสิงห์ เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนสิงห์หนึ่งเนื้อสำรัดปิดทอง ปางมารวิชัย สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏ มีหน้าตักกว้าง ๒๐๔ เซนติเมตร สูงทั้งฐาน ๒๘๔ เซนติเมตร ที่ฐานมีอักษรล้านนาจารึกว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสลา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา” อันหมายถึง ปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ในทางพระพุทธศาสนาที่ระบุว่า สภาวะธรรมทั้งปวงมี ๓ ประเภท คือ
๑. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “กุศล” ก็มี
๒. ธรรมทั้งหลายที่เป็น “อกุศล” ก็มี
๓. ธรรมทั้งหลายที่อยู่นอกเหนือจาก “กุศลและอกุศล” ก็มี
พระอุโบสถเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างทำด้วยไม้เนื้อแข็ง สันนิฐานกันว่าสร้างขึ้นเมื่อราวจุลศักราช ๑๒๕๑-๑๒๕๒ (พ.ศ. ๒๔๓๒-๒๔๓๓) ต่อมามีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกสองครั้งคือ พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยพระครูสิกขาลังการ และ พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยพระสุนทรปริยัติวิธาน เจ้าอาวาสวัดพระสิงห์
บานประตูหลวงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ทำด้วยไม้แกะสลัก เป็นปริศนาธรรมระดับปรมัตถ์ ออกแบบโดย อ.ถวัลย์ ดัชนี แกะสลักโดยสล่าอำนวย บัวงาม มีขนาดกว้าง ๒.๔๐ เมตร ยาว ๓.๕๐ เมตร และ หนา ๐.๒ เมตร เป็นเรื่องราวของ ดิน น้ำ ลม ไฟ อันหมายถึงธาตุทั้ง ๔ ที่มีอยู่ในร่างกายคนเราทุกคน
ดิน คือ เนื้อ หนัง กระดูก
น้ำ คือ ของเหลวต่างๆ ที่มีอยู่ในร่างกาย เช่น น้ำ โลหิต ปัสสาวะ
ลม คือ อากาศที่เราหายใจเข้าออก ลมปราณที่ก่อเกื้อให้ชีวิตเป็นไป
ไฟ คือ ความร้อนที่ช่วยในการเผาผลาญอาหารเกิดพลังงาน
โดยถ่ายทอดธาตุทั้ง ๔ ออกเป็นสัญลักษณ์รูปสัตว์ ๔ ชนิด เพื่อการสื่อความหมาย
ช้าง เป็นสัญลักษณ์ของ ดิน
นาค เป็นสัญลักษณ์ของ น้ำ
ครุฑ เป็นสัญลักษณ์ของ ลม
สิงห์โต เป็นสัญลักษณ์ของ ไฟ
พระเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย เชื่อว่าสร้างขึ้นในสมัยเดียวกันกับพระอุโบสถ มีการบูรณะใหม่ปี ๒๔๙๒ และบูรณะใหม่ในปี ๒๕๓๓ แต่เดิมทาสีขาว ปัจจุบันทาสีทองเด่นเป็นสง่า ประดิษฐานอยู่ทิศตะวันตกชิดด้านหลังพระอุโบสถ
พระพุทธบาทจำลองจำหลักบนแผ่นศิลาทราย มีขนาดกว้าง ๖๐ เซนติเมตร ยาว ๑๕๐ เซนติเมตร มีจารึกอักษรขอมโบราณว่า “กุสลา ธมฺมา อกุสมา ธมฺมา อพฺยากตา ธมฺมา” ปราชญ์บางท่านสันนิษฐานว่า น่าจะมีมาแต่สมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทย
หอระฆังเป็นสถาปัตยะกรรมร่วมสมัยแบบล้านนาไทยประยุกต์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ มีระฆังเป็นแบบใบระกาหล่อด้วยทองเหลืองทั้งแท่ง ซึ่งหาดูได้ยากมาในปัจจุบัน ขนาดความสูง ๒๕ นิ้ว ยาว ๓๙ นิ้ว หนา ๑ นิ้ว ขุดพระบริเวณวัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ปัจจุบันชั้นล่างใช้เป็นหอกลอง
ต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนา คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญ เดือนวิสาขะ พลโท อัมพร จิตกานนท์ นำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยความอนุเคราะห์จากท่านเอกอัครราชทูตอินเดียและอาศรมวัฒนธรรมไทย – ภารตะ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ และปลูกไว้ ณ วัดพระสิงห์ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
ต้นสาละลังกาเป็นต้นไม้มงคลเนื่องในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับต้นศรีมหาโพธิ์ คือ เป็นต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าประทับสำเร็จสีหไสยาสน์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมกิตติโสภณ นำมาจากประเทศศรีลังกา และนำมาปลูกไว้ที่วัดพระสิงห์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
วัดพระสิงห์ มีเจ้าอาวาสที่บริหารวัดสืบต่อกันมานับแต่ปีที่สร้างวัดจนถึงปัจจุบัน จำนวน ๙ รูป คือ
๑. ครูบาปวร พ.ศ. ๑๙๔๓ – ๑๙๖๒
๒. ครูบาอินทจักรรังษี พ.ศ. ๑๙๖๒ – ๑๙๘๕
๓. พระอธิการอินตา พ.ศ. ๑๙๘๕ - ..........
๔. พระมหายศ พ.ศ. .......................
๕. พระธรรมปัญญา (ป๊อก) พ.ศ. ๒๔๑๓ – ๒๔๔๐
๖. พระครูเมธังกรญาณ (ป๊อก) พ.ศ. ๒๔๔๐ – ๒๔๗๓
๗. พระครูเมธังกรญาณ (ดวงต๋า) พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๘๘
๘. พระครูสิกขาลังการ พ.ศ. ๒๔๘๙ – ๒๕๒๒
๙. พระสุนทรปริยัติวิธาน พ.ศ. ๒๕๒๓ – ปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น