วันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ตามรอยพระแก้วมรกต ที่วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย

วัดพระแก้ว เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ตั้งอยู่ที่ถนนไตรรัตน์ ในตัวเมืองเชียงราย แต่เดิมมีชื่อว่าวัดป่าเยี้ย  เยี้ยแปลว่าไม้ไผ่  บริเวณที่ตั้งวัดเป็นป่าไผ่จึงตั้งชื่อตามที่มา  
ตามประวัติกล่าว ว่าเจ้ามหาพรหมผู้ครองเมืองเชียงรายเป็นผู้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาจากเมือง กำแพงเพชร  ในช่วงเวลานั้นสถานการณ์บ้านเมืองไม่ค่อยจะสู้ดีนักจึงได้พอกปูนทับองค์พระ แก้วมรกตแล้วนำไปบรรจุไว้ในเจดีย์วัดป่าเยี้ย อีก 45 ปีต่อมาเกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์ พบพระพุทธรูปลงรักปิดทององค์หนึ่งตกลงมาจากเจดีย์จึงได้อัญเชิญไปไว้วิหาร หลวงได้ 2 เดือน ต่อมาปูนบริเวณพระนาสิก ( จมูก ) กระเทาะออกจึงเห็นเป็นแก้วสีเขียว  เจ้าอาวาสได้กระเทาะปูนออกจึงปรากฎเป็นพระแก้วสีเขียวทั้งองค์  ในช่วงเวลานั้นเชียงรายอยู่ภายใต้การปกครองของเชียงใหม่ในยุคสมัยของพระเจ้า สามฝั่งแกน เมื่อทราบข่าวจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปเมืองเชียงใหม่ รวมระยะเวลาที่พระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ที่เชียงรายเป็นเวลา 45 ปี  วัดป่าเยี้ยที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตจึงถูกเรียกต่อๆ กันมาว่า วัดพระแก้ว
พระอุโบสถวัดพระแก้วในปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คนเชียงรายเรียกกันว่า พระเจ้าล้านทอง เป็นพระศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเชียงรายเคารพนับถือเป็นอันมาก  แต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าล้านทอง ต่อมามีสภาพเป็นวัดร้างจึงได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่วัดดอยงำเมือง และได้อัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระแก้วเมื่อปี 2504
พระ แก้วหยก เป็นพระพุทธรูปหยกที่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนชาวเชียงรายร่วมกันสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมีพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2533 โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 20 ก.ย. พ.ศ. 2534 ชาวเชียงรายได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว  เรียกว่า  พระหยกเชียงราย

1 ความคิดเห็น: